- ทำไมต้องระวังไข้หวัดใหญ่ 2009
"ไข้หวัดใหญ่ 2009 ติดต่อง่าย เร็ว ดี เก่งมาก อาจจะเก่งกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล"
-ไข้หวัดใหญ่ 2009 โจมตีทุกกลุ่มอายุ ไม่เฉพาะเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ หรือคนแก่อายุมากกว่า 65 ปี หรือกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด หลอดลมอ่อนแอ ความดันเลือดสูง เบาหวาน ไตไม่ดี เป็นต้น แต่ยังติดได้ดีในเด็กโต วัยรุ่น จนถึงผู้ใหญ่ที่แข็งแรง 20-50 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวด้วย
- จริงหรือไม่ที่ไข้หวัดใหญ่ 2009 จะเกิดโรคที่รุนแรงเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัว
ไม่จริง รายงานการวิเคราะห์ไข้หวัดใหญ่ 2009 จากประเทศเม็กซิโกในช่วงหนึ่งเดือนของการระบาด พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่มีอาการรุนแรง ไม่มีโรคประจำตัวทั้งสิ้น และเกิดปอดบวมต้องใส่เครื่องช่วยหายใจจนถึงเสียชีวิต
- การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด มีประโยชน์หรือไม่
ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะไข้หวัดใหญ่ 2009 มีอาการตั้งแต่ อาการ ไอ จาม ครั่นเนื้อ ครั่นตัว โดยไม่มีไข้ก็ได้ การเฝ้าดูสถานการณ์ต้องดูที่ผู้ป่วยที่มาด้วยไข้หวัดใหญ่จริงๆ และเริ่มมีอาการมากขึ้นจากไข้หวัดธรรมดา เช่น ปวดเมื่อยทั้งเนื้อ ทั้งตัว ไข้สูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก 2-3 วัน มีอาการของระบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรืออาการทางสมอง เช่น ซึม นอนมากขึ้น ปวดศีรษะ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจดำเนินรุนแรงขึ้น จนมีปอดบวม หายใจไม่ได้ จนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต
- การเฝ้าดูสถานการณ์ของผู้ป่วยอาการมากขึ้นเช่นนี้มีประโยชน์อะไร
มีประโยชน์ในการดูความเก่งกาจของไวรัสในการยกระดับ และแนวโน้มที่จะระบาดเป็นระลอกสอง เช่น ไข้หวัดใหญ่ลามโลกปี 1918 (H1 N1) ปี 1957 (H2 N2) 1968 (H3 N2) ซึ่งในระลอกสอง อาจพบความรุนแรงมากขึ้นจากอัตราเสียชีวิต 5-15% กลายเป็น 60-80% ทั้งนี้ โดยเทียบอัตราการตายในกลุ่มที่เริ่มมีอาการรุนแรง ไม่ใช่นับรวมผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยเข้าไปด้วย นอกจากนั้น การติดตามจำนวนของผู้ป่วยในแต่ละวันที่มีอาการมากแม้ไม่ถึงขนาดปอดบวมหรือ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจก็จะช่วยทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ดีขึ้น
ประโยชน์ ที่จะได้อีกประการหนึ่งคือการปรับตัวของโรงพยาบาลในการเตรียมพร้อมรองรับการ รักษาพยาบาลผู้ป่วย การเตรียมยา จัดสถานที่อุปกรณ์ และบุคลากรในการดูแลผู้ป่วย
- มาตรการที่ต้องพิจารณาในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรเป็นอย่างไร
สร้างความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ที่จะสื่อถึงประชาชน ในการขอความร่วมมือ ไปจนถึงการกำหนดมาตรการภาคบังคับ
"ต้องกันผู้มีโอกาสแพร่เชื้อ ไม่ให้มีโอกาสแพร่ไปสู่ผู้อื่น คนที่มีอาการ ไอ จาม น้ำมูกไหล หวัดแบบไหนก็ตาม ต้องใส่หน้ากากอนามัย ต้องอยู่บ้าน ในบ้านต้องจัดสัดส่วนแยกเท่าที่จะทำได้ ทุกคนในบ้านต้องใส่หน้ากาก ล้างมือแบบถูกต้องเป็นประจำ แยกถ้วยชามแก้วน้ำ ใช้ช้อนกลาง และเฝ้าดูอาการ หากอาการมากขึ้นต้องนำส่งโรงพยาบาล"
"เมื่อหยุดงาน หยุดเรียน ปิดสถานที่มีการระบาดตามระยะเวลาที่เหมาะสมเช่น 7 วันซึ่งนับรวมระยะที่คนที่ติดเชื้อจะสามารถแพร่ให้คนอื่นได้ตั้งแต่ยังไม่ แสดงอาการจนมีอาการแล้ว (แต่ถ้ามีอาการแทรกเช่นปอดบวมระยะแพร่เชื้อก็จะนานกว่านั้น) ที่สำคัญ ต้องกำชับที่การหยุดนั้น ให้คนหยุดอยู่บ้าน ไม่ใช่ไปดูหนัง เดินช็อปปิ้ง"
"การล้างมือ ถ้าไม่มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ใช้น้ำและสบู่ได้ เชื้อที่อยู่ในละอองฝอยจากการไอจามสามารถอยู่บนพื้นผิวเครื่องใช้ได้นานถึง 2 ชั่วโมง"
- อาการสำคัญของไข้หวัดใหญ่ 2009
อาการมีได้ทั้ง ระบบทางเดินหายใจแบบน้อยๆ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไม่มีไข้ก็ได้จนถึงเหนื่อยหอบหายใจเร็ว และปอดบวม แต่อาจพบอาการแบบอื่นๆ โดยไม่มีไอหรือน้ำมูกไหล แต่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดกระดูกร่วมกับไข้หรือมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ความดันต่ำ หน้ามืด หรือมีแต่ อาการทางสมอง ซึม ไม่รู้ตัวก็ได้
- ใครที่ควรต้องตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009
เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ 2009 ในขณะนี้ส่วนใหญ่หายเองได้ จึงควรตรวจภายใน
"ผู้มีโรคประจำตัว โรคปอด หลอดลม เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคไต อัมพฤกษ์ ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ที่มีอาการทุกระดับ ไม่จำกัดความรุนแรง"
"เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี ไม่จำกัดความรุนแรง"
"เด็กอายุมากกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่อายุน้อยกว่า 65 ปี เฉพาะที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น"
" แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข ไม่จำกัดความรุนแรง เพราะจะเป็นตัวการแพร่เชื้อแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ในการระบาดที่เม็กซิโก พบว่าในโรงพยาบาลโรคปอดแห่งหนึ่งในเดือนแรก มีหมอ พยาบาลติดเชื้อถึง 22 ราย"
การตรวจไม่ควรเจาะจงเฉพาะไข้หวัดใหญ่ 2009 ต้องแยกว่า ผู้ป่วยมีอาการจากแบคทีเรีย ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไข้หวัดนกหรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการให้ยา Tamiflu และประเมินสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ลามประเทศ
- การปิดโรงเรียน ปิดสถานที่ทำงานที่มีคนติดเชื้อ มีประโยชน์หรือไม่
มีประโยชน์ เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ 2009 มีความสามารถสูงในการแพร่จาก 1 คน ไปยังอีก 2-3 คน และคนที่ได้รับเชื้อยังแพร่ให้ผู้อื่นได้ในช่วง 2-3 วันแรกที่ยังไม่แสดงอาการ ดังนั้น แม้ดูอาการปกติก็ยังสามารถถ่ายทอดเชื้อได้ เพราะฉะนั้น เมื่อปิดโรงเรียน ที่ทำงาน นักเรียน คนในที่ทำงานนั้นๆ ต้องอยู่บ้านโดยเคร่งครัด อยู่บ้านเป็นสัดส่วน อย่างน้อย 7 วัน จนแน่ใจ ไม่ใช่ใช้ช่วงเวลานั้นไปเที่ยว เพราะมีโอกาสแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวสูง
- ยา Tamiflu จะให้บุคคลใดบ้าง
ผู้มีอาการน้อยจนเหมือนหวัดธรรมดา เช่น ไข้ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไม่ต้องใช้ยา แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้น คือไข้สูงไม่ลด พาราเซตามอลเอาไม่อยู่ รายละเอียดในข้อ 3. จึงจำเป็นต้องได้ยา
การให้ยาโดยไม่จำกัด นอกจากจะมีผลข้างเคียง ซึ่งมีอันตราย เช่น มีอารมณ์ผิดปกติจนถึงฆ่าตัวตาย เป็นต้น ที่สำคัญคือยังทำให้เชื้อดื้อยาเร็วขึ้น หากมีการระบาดจริง และรุนแรง จะเป็นปัญหาอย่างมาก
- ถ้าไม่มีเงินซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จะทำอย่างไร
การใช้ผ้าเช็ดหน้า กระดาษทิชชู่ ปิดปาก จมูก เมื่อมีอาการหวัดอย่างเคร่งครัด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เป็นทางออกที่ดี ไม่ต้องสิ้นเปลืองเพิ่ม ไวรัสจะถูกปล่อยออกมาพร้อมกับละอองฝอยซึ่งทั่วไปมีขนาดมากกว่า 8 ไมครอน และการปิดปากด้วยผ้าหรือกระดาษสามารถลดการแพร่ได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญอีกประการคือต้องพยายามละเว้นนิสัยเอามือที่ไม่ได้ล้าง และสัมผัสโต๊ะ ลูกบิดหรือเครื่องใช้ที่มีเชื้อไปป้ายตา จมูก ปาก จนทำให้ติดเชื้อได้
- การอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ปลอดภัยหรือไม่
มีการศึกษาพบว่าถ้าเครื่องปรับอากาศมีการหมุนเวียนจากอากาศภายนอก 100% มีโอกาสติดเชื้อเพียง 1.8% ถ้าใช้อากาศภายนอก 30-70% มีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้นเป็น 13-16%
ขอบคุณข้อมูล ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา