วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ (Allergy) คือโรคที่เกิดจากร่างกายมีความไวผิดปกติต่อสิ่งแวดล้อมกระตุ้นภายนอกแตกต่างไปจากคนปกติทั่วไป แทนที่จะสร้างภูมิต้านทานโรค กลับไปสร้างภูมิชนิดที่ก่อให้เกิด อาการภูมิแพ้แทน ที่เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ (Antigen) เช่น ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่นที่นอน รังแคสัตว์เลี้ยง ฝุ่นซากแมลงสาบ เกสรดอกหญ้า อาหาร หรือ ยาบางชนิด

กลไกการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้
โดยปกติเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ เข้าไปในร่างกายบ่อยๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำการจดจำและสร้างภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่มีสมบัติเป็นโปรตีน เรียกว่า IgE (ไอ-จี-อี ) และเมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปอีก สารก่อภูมิแพ้ จะไปจับกับ IgE ซึ่งอยู่บนเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวนี้แตกออกและปล่อยสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ฮิสตามีน (histamine) ออกมา ส่งผลให้เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา ลำคอ เกิดการอักเสบ เกิดการบวม และสร้างเมือกออกมามากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล และคันจมูกตามมา

ชนิดของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้สามารถแบ่งได้เป็น 4 โรคคือ
1) โรคหืด (Asthma)
2) โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หรือ โรคแพ้อากาศ
3) โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
4) โรคผื่นภูมิแพ้ (Atopic eczema)
โรคภูมิแพ้อีกกลุ่มที่เกิดจากการได้รับสารกระตุ้นอื่นที่ชัดเจน เช่น
1) โรคภูมิแพ้ที่เกิดจากอาหาร (Food allergy)
2) การแพ้ยาและสารเคมี (Drug and chemical substance allergy)

โรคภูมิแพ้พบบ่อยเพียงใด
โรคภูมิแพ้จัดเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งในประเทศไทย จากการศึกษาอัตราความชุกของโรคในประเทศไทย มีอัตราความชุกอยู่ระหว่างร้อยละ 10-50 ของประชากรทั้งประเทศ โดยโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มีความชุกสูงสุดในกลุ่มโรคภูมิแพ้ นั่นหมายความว่า ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ มีปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อยู่ รองลงมาคือโรคหืด และโรคผื่นภูมิแพ้ในอัตราความชุกใกล้เคียงกัน นอกจากนี้อัตราการเกิดโรคภูมิแพ้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา โรคภูมิแพ้จัดได้ว่าเป็นโรคเรื้อรังที่สำคัญอันดับที่ 6 เลยทีเดียว

สาเหตุปัจจัยของโรคภูมิแพ้
1) ปัจจัยทางพันธุกรรม
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวก็สามารถเกิดโรคภูมิแพ้ได้เองประมาณ ร้อยละ 10-20 ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 25-50 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่ ลูกที่เกิดออกมามีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 70 โดยเฉพาะโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศจะมีอัตราการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์สูงที่สุด
2) ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
ส่วนมากอาการแสดงของโรคภูมิแพ้จะเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับสิ่งแวดล้อมที่สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิไวเกินในร่างกาย ซึ่งจะต้องได้รับปริมาณมากและนานพอที่จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยา ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้แก่
- การได้รับหรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ (Allergen exposure)
- การติดเชื้อ (Infection) จากการศึกษาทางระบาดวิทยา โรคภูมิแพ้พบมากในเด็กที่มีสุขอนามัยดี หรืออยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าเด็กที่มีสุขอนามัยไม่ดี หรืออยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่นการพบเด็กที่อยู่ในเมืองเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าเด็กที่อยู่ในชนบท
- การสูบบุหรี่ (Smoking) การได้รับควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่โดยที่ตนเองไม่ได้สูบบุหรี่เอง (Passive smoking) จะได้รับปริมาณสารพิษจากควันบุหรี่มากกว่าผู้ที่สูบโดยตรงถึง 3-40 เท่า เช่น เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหืดมากกว่าเด็กปกติ 2 เท่า และในเด็กที่เป็นโรคหืดอยู่แล้วก็จะมีโอกาสเกิดอาการกำเริบและต้องใช้ยาควบคุมโรคมากขึ้น
- การได้รับนมแม่ (Breast feeding) นอกจากทำให้มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ มากขึ้นแล้วยังลดโอกาสการเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย
- มลพิษ (Pollution) เช่นมลภาวะจากท่อไอเสียรถยนต์ จากโรงงานอุตสาหกรรม จะกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูล พญ.เปรมจิต ไวยาวัจมัย

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้
1. อาการของโรคภูมิแพ้
• อาการที่เริ่มเป็นโรคภูมิแพ้ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดเมื่ออายุ 20 ปีแต่ก็มีผู้ป่วยที่เริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อย และเป็นต่อเนื่องจนวัยหนุ่ม
• อาการภูมิแพ้เป็นทั้งปี (perennial rhinitis)หรือเป็นเฉพาะฤดู (seasonal rhinitis) หรืออาจจะเป็นทั้งสองแบบผสมกัน อาการภูมิแพ้เป็นทั้งวัน หรือเป็นเฉพาะเจอเหตุการณ์ที่พิเศษ การเป็นคนช่างสังเกตจะช่วยให้ช่วยในการวินิจฉัยโรค
• เมื่อเวลาเป็นภูมิแพ้มีอาการที่อวัยวะไหนบ้าง ส่วนใหญ่จะมีอาการคันจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม แต่บางคนจะมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล
2. ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้
• ทราบปัจจัยกระตุ้นอาการภูมิแพ้หรือไม่ เช่นเมื่อเจอฝุ่น หรือเกิดอาการเมื่อจุดธูป หรือแพ้ขนสัตว์ หากสิ่งที่สงสัยว่าจะเป็นภูมิแพ้แล้วเกิดอาการแสดงว่าแพ้สิ่งนั้น
• อาการภูมิแพ้อาจจะเป็นมากขึ้นหากสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ กลิ่นสี กลิ่นแรงๆ
• ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ตลอดปีมักจะแพ้ ไรฝุ่น หรือแพ้ขนสัตว์
3. การตอบสนองต่อการรักษา
• หากตอบสนองการรักษาด้วยยาแก้แพ้ antihistamine ได้ผลดีก็จะช่วยในการวินิจฉัย แต่ผู้ป่วยที่คัดจมูกโดยที่ไม่ใช่โรคภูมิแพ้ก็ตอบสนองต่อยาแก้แพ้
• หากตอบสนองต่อยาพ่นจมูก steroid แสดงว่าเกิดจากภูมิแพ้
4. หาโรคร่วม
• ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักจะมีโรคร่วม เช่นผิวหนังอักเสบ โรคหอบหืด หากไม่ควบคุมอาการภูมิแพ้จะทำให้โรคหอบหืดหรือโรคผิวหนังกำเริบ
• ค้นหาโรคแทรกซ้อน เช่นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคนอนกรน ฟันกร่อนเนื่องจากนอนกัดฟัน ริดสีดวงจมูก (nasal polyp)
• มีโรคหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย
5. ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว
• ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูง
• ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจจะไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เนื่องจากอาจจะมีปัจจัยอย่างอื่น
6. สิ่งแวดล้อม
• ให้สังเกตสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ทั้งปี เช่น ปัจจัยที่ทำให้เกิดไรฝุ่น รา สัตว์เลี้ยง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น อาชีพเกี่ยวกับพรม ความร้อน ความชื้น
• สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานหรือโรงเรียนที่อาจจะทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น การทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ ความชื้น เกสรดอกไม้เป็นต้น
คนที่เป็นภูมิแพ้จะมีลักษณะอย่างไร
• เมื่อส่องดูรูจมูกจะพบว่าเยื่อจมูกบวมสีแดง บางคนอาจจะซีดหรือสีม่วงคล้ำ ลักษณะน้ำมูกก็ช่วยบอกโรคได้เช่น หากน้ำมูกใสก็น่าจะเป็นภูมิแพ้ หากมีน้ำมูกข้างเดียวสีเหมือนหนองก็น่าจะเป็นไซนัสอักเสบ
• อาจจะมีการอักเสบของหู แก้วหูอาจจะทะลุทำให้ผู้ป่วยได้ยินไม่ชัด
• เยื่อบุตาอาจจะแดง และบวมเนื่องจากภูมิแพ้

แพทย์จะตรวจอะไรบ้างเพื่อหาสาเหตุของโรคภูมิแพ้
การตรวจร่างกาย
• ตรวจดูว่าใช้ปากหายใจแทนจมูกหรือไม่
• ตรวจจมูกว่ามีรอยขวางกลางจมูกหรือไม่
• ส่องตรวจรูจมูกเพื่อตรวจดูว่ามี polyp เยื่อบุจมูกว่าบวมหรือไม่ สีของเยื่อบุจมูก สีของน้ำมูก
• ตรวจตาว่ามีการอักเสบของเยื่อบุตาหรือไม่
• ตรวจคอ ว่ามีเสมหะติดคอหรือไม่ ต่อมทอนซิลโตหรือไม่
• ตรวจหูว่ามีหูน้ำหนวก หรืออักเสบ
การทดสอบทางภูมิแพ้
• การ ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังซึ่งสามารถทำได้สองวิธีคือ การใช้เข็มสะกิดผิวหนังให้เป็นแผลแล้วหยดสารที่สงสัยว่าจะเป็นสารภูมิแพ้บน ผิวหนังที่เป็นแผล รอดูผลซึ่งจะเกิดผื่นลมพิษบริเวณดังกล่าวในเวลา 10-15 นาที หรืออาจจะใช้วิธีฉีดสารที่สงสัยว่าจะแพ้เข้าใต้ผิวหนัง แล้วรอผลว่าจะเกิดลมพิษหรือไม่
• การเจาะเลือดตรวจหาระดับภูมิ IgE หลังจากผิวหนังถูกกระตุ้นด้วยสารที่สงสัยว่าจะเป็นสารภูมิแพ้
• การเจาะเลือดหาระดับ IgE ซึ่งผู้ป่วยภูมิแพ้มักจะมีภูมิ IgE ระดับสูง
• การเจาะเลือดตรวจ CBC จะพบว่ามีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง
• การตรวจทางรังสีเพื่อตรวจดูว่ามีโรคแทรกซ้อน เช่นไซนัสอักเสบโดยอาจจะเป็นการตรวจ X-RAY ธรรมดาหรือตรวจด้วยคอมพิวเตอร์
• การตรวจพิเศษเช่นการส่องเข้าไปในรูจมูก Rhinoscopy เพื่อตรวจดูว่ามีเนื้องอก หรือสิ่งผิดปกติอย่างอื่นหรือไม่
การรักษา

ขั้นตอนในการรักษาโรคภูมิแพ้
อาการไม่หนักหรือนานๆจะเป็นสักครั้ง
• ยังไม่ต้องใช้ยา
• แนะนำให้หลีกเลี่ยงจากสารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
อาการเป็นหนักปานกลางและเป็นบ่อย
• ให้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน หรือ
• ให้ยา steroid ชนิดพ่น
• สำหรับเด็กอาจจะใช้ยาพ่นชนิดยับยั้ง mast cell
ในรายที่มีอาการรุนแรง
• เริ่มด้วยยา steroid ชนิดพ่น
• หรือยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน
• หากอาการเป็นมากอาจจะให้ prednisolone รับประทาน

ข้อแนะนำในการรักษาโรคภูมิแพ้สำหรับคนไข้
หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ทั้งสารที่สงสัย และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสารที่ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ
• สิ่งแวดล้อมนอกบ้านได้แก่ เกสรดอกไม้ รานอกบ้าน
• สิ่งแวดล้อมในบ้าน ไรฝุ่น แมลงสาบ จัดห้องให้ปลอดฝุ่น สัตว์เลี้ยง
• สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน
• การรักษาโดยการใช้ยา
• การรักษาโดยการฉีดสารภูมิแพ้ Immunotherapy (desensitization)

โรคภูมิแพ้ กับการป้องกันอย่างง่ายๆ
สิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้มากคือ การสัมผัสการเปลี่ยนแปลงของอากาศ สุขภาพอ่อนแอและเครียด ดังนั้น หากไม่อยากให้โรคภูมิแพ้อากาศมารบกวน ควรหมั่นดูแลรักษาตนเองและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนี้
การดูแลตัวเอง
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ
- หลีกเลี่ยงความเครียด ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรหายามาทานเอง
การดูแลสิ่งแวดล้อม
ด้วยการกำจัดฝุ่นละอองและตัวไรในห้องนอน ทำความสะอาดห้องนอนทุกวัน จัดห้องนอนให้โล่ง มีเครื่องตกแต่งน้อยชิ้นที่สุด หลีกเลี่ยงวัสดุที่ทำจากขนสัตว์ นุ่น หลีกเลี่ยงการใช้พรม ที่นอนและหมอนควรนำออกตากแดดทุกสัปดาห์ ผ้าคลุมที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม มุ้ง ผ้าคลุมเตียง ควรทำความสะอาดอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ควรเก็บหนังสือและเสื้อผ้าในตู้ที่ปิดมิดชิด ใช้วัสดุที่เป็นใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ กำจัดแหล่งที่อยู่ของแมลงสาบและแมลงอื่นๆ ในบ้าน หลีกเลี่ยงการวางดอกไม้สดหรือต้นไม้ภายในบ้าน ไม่ควรคลุกคลีหรือนำสัตว์เลี้ยงมาไว้ในบ้าน กำจัดเชื้อรา อย่าให้เกิดความชื้นหรืออับทึบ เช่น ห้องน้ำ กระถางต้นไม้

*** ต้องการตรวจสอบและระบบกำจัดสิ่งที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ภายในบ้าน กรุณาติดต่อ คุณพิเชษฐ์ pichet699@gmail.com ***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น