คำถามที่มักสงสัยกันมากเกี่ยวกับเครื่องฟอกอากาศ คือ เรื่องประสิทธิภาพในการใช้ป้องกันไรฝุ่น เนื่องจากในปัจจุบันมีการเรียกชื่ออุปกรณ์ที่กำจัดมลพิษในอากาศแตกต่างกันไป ตามผลการทำงานของเครื่อง เช่น ถ้าเป็นการทำให้อากาศสะอาดจะเรียกว่า เครื่องฟอกอากาศ /air cleaner หรือทำให้อากาศบริสุทธิ์ปราศจากมลพิษที่อาจเป็นอนุภาคเล็กๆ (particulate matter), ฝุ่น, ละอองเกสร, สารก่อภูมิแพ้, ควัน ก๊าซรวมทั้งกลิ่น เรียกว่า air purifier หรือทำงานโดยการกรองจะเรียกว่าเครื่องกรองอากาศ (Air filtration device) วิธีการใช้เครื่องเหล่านี้จัดเป็นการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ที่น่าจะมีประโยชน์ เพราะมีการรวบรวมการศึกษาวิจัยสรุปว่าสามารถช่วยลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ใน อากาศ (aeroallergen) ได้ แต่การฟอกอากาศเพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีประสิทธิภาพในการ ลดปริมาณของสารก่อภูมิ-แพ้ในอากาศได้จริง หรือมีผลยืนยันว่าทำให้อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทุเลาลง แต่อย่างไรก็ตามไม่มีผลเสียในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
เครื่องฟอกอากาศที่มีจำหน่ายในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ตามกลไกการทำงานดังนี้
1) Mechanical filters เป็นการทำให้อากาศสะอาดโดยการนำอากาศผ่านเข้าเครื่องกรองและผ่านแผ่นกรอง ที่จะดักจับฝุ่นละอองและสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้ตามลักษณะของแผ่นกรอง ชนิดที่นิยมใช้มากที่สุดคือ HEPA (High efficiency particulate air) เพราะสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ถึง 0.3-1 ไมโครเมตร ขจัดอนุภาคในอากาศได้ถึง 99.9% และมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี
2) Electronic air cleaner หลักการคือทำให้อนุภาคในอากาศเป็นประจุลบแล้วตกลงสู่พื้นผิวหรือถูกดักจับ
3) Gas phase filters ทำงานโดยใช้สารเคมีหรือวัสดุที่มีคุณสมบัติในการดูดซับมลพิษที่เป็นกลิ่นไอ ระเหย และก๊าซ จึงมักได้ผลดีกับกลิ่นและก๊าซมากกว่าการลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้
4) Ozone generator มีการใช้โอโซนในการทำให้น้ำบริสุทธิ์ และยังพบว่าโอโซนที่มีความเข้มข้นสูงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในการเก็บรักษาเนื้อสัตว์ได้ จากหลักการดังกล่าวจึงมีการนำโอโซนมาใช้ในการฟอกอากาศ เพราะเชื่อว่าสามารถขจัดอนุภาคก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอระเหยต่างๆ รวมทั้งจุลชีพก่อโรคที่ปนเปื้อนในอากาศได้ด้วยขบวนการ oxidation แต่โอโซนเป็นสารที่มีความระคายเคืองต่อปอดสูง (potent lung irritant) ในระดับที่มีความเข้มข้นสูงๆสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหืด โรคปอดเรื้อรัง เด็กและผู้สูงอายุ มีรายงานว่าโอโซนที่มีความเข้มข้นสูงถึง 6-9 ppm. ไม่สามารถฆ่าเชื้อราที่ฟุ้งกระจายในอากาศได้ ดังนั้นโอโซนจากเครื่องฟอกอากาศจึงไม่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อโรคแต่อาจทำให้ เกิดผลเสียมากกว่า
5) Hybrid filters เป็นการประยุกต์รวม mechanical filter, electronic air cleaner และ gas phase filters เข้าด้วยกัน มีประสิทธิภาพการทำงานสูงจากหลายกลไกร่วมกัน จึงมักมีราคาแพง
เป็นที่ทราบกันดีว่าสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นมีปริมาณสูงเฉพาะที่ เช่นในที่นอน หมอน หรือพื้นที่ที่เป็นพรม ฟุ้งกระจายเมื่อมีแรงมากระทบ และเป็นอนุภาคขนาดใหญ่ (>10-40 mm) มักตกลงสู่พื้นหลังการฟุ้งกระจายในเวลาไม่นานนักภายใน 5 นาที จึงมีการล่องลอยในอากาศปริมาณน้อย ต่างจากสารก่อภูมิแพ้ประเภทอื่นๆ เช่น ละอองเกสร และสปอร์ของเชื้อรา ที่เป็นอนุภาคขนาดเล็กสามารถลอยตัวในอากาศได้นาน จึงสามารถขจัดได้ผลดี ดังนั้นการใช้เครื่องฟอกอากาศจึงเป็นแค่อาจช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นแต่ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดหรือวิธีการแรกในการแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติ อย่างไรก็ดีพบว่าการใช้เครื่องกรองอากาศร่วมกับการคลุมที่นอนจะเพิ่มประสิทธิภาพในการลดสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นได้มากกว่าการคลุมที่นอนเพียงอย่างเดียว โดยการศึกษาวิจัยนี้ประเมินประสิทธิภาพจากการที่อาการภูมิแพ้ของผู้ป่วยลดลง โดยเฉพาะในบ้านที่ปูพรมและมีสัตว์เลี้ยง
ชนิดเครื่องฟอกอากาศที่นิยมนำมาใช้ในการควบคุมสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นมี 3 กลุ่มหลัก คือ Mechanical filtration, Electronic air cleaner และ Hybrid filters แม้ปัจจุบันจะมีการคิดค้นระบบอื่นๆ เข้ามาเพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง แต่ยังมีกลไกหลักเช่นเดิมและยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่แน่ชัดถึง ประสิทธิภาพของอุปกรณ์นี้ในการลดอาการทางคลินิกของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ การเลือกชนิดของเครื่องฟอกอากาศนอกจากจะคำนึงถึงประสิทธิภาพของเครื่องตามคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังต้องคำนึงถึงราคา ความทนทาน ความเหมาะสมของสภาพห้องและความไวต่อชนิดของสารก่อภูมิแพ้ในผู้ป่วยแต่ละราย
*** การติดเครื่องปรับอากาศ (Air conditioning) เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพบ้าน ห้องนอน หรือห้องพัก โดยการลดระดับความชื้นและอุณหภูมิในห้องนั้น เชื่อว่าช่วยให้สภาพไม่เหมาะสมกับการเจริญ เติบโตของไรฝุ่น ซึ่งได้ผลดีมากกับสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นละอองเกสรหญ้า แต่ยังไม่มีรายงานประสิทธิภาพอย่างชัดเจนในการลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นและเชื้อรา เนื่องจากความชื้นและอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศปกติ และใช้ไม่ได้ผลในฤดูหนาวโดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่นที่มีอากาศหนาวและแห้งอยู่
ที่มา : รศ.พญ.ดร. อัญชลี ตั้งตรงจิตร
*** ต้องการทราบระบบฟอกอากาศเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณพิเชษฐ์ pichet699@gmail.com ***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น